เดิมเป็น 2 โรงเรียนคือ โรงเรียนวัดพลับพลาชัย โดยมีพระอาจารย์ริด (หลวงพ่อฤทธิ์) เจ้าอาวาส วัดพลับพลาชัยเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ ทั้งด้านการสอนและทุนทรัพย์ เมื่อ พ.ศ. 2429 (ตามประวัติการประถมศึกษาของชาติที่ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ค้นคว้าให้ UNESCO ระบุว่ามีโรงเรียนเปิดสอนในวัดพลับพลาชัยแล้ว เป็นแห่งแรกของจังหวัดเพชรบุรี โดยในสมัยนั้นที่ว่าการอำเภอคลองกระแชง ตั้งอยู่ที่วัดพลับพลาชัย จึงเป็นศูนย์การสอบไล่ประโยคประถมศึกษา) และโรงเรียนบำรุงไทย ของวัดคงคาราม (วัดคงคารามวรวิหาร) ซึ่งภายหลังได้ยุบรวมกัน ตลอดจนเปลี่ยนชื่อเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันคือโรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี
พ.ศ. 2429
พระอาจารย์ริด (หลวงพ่อฤทธิ์) เจ้าอาวาส วัดพลับพลาชัย ดำเนิการจัดต้งโรงเรียน ณ วัดพลับพลาชัย
พ.ศ. 2437
พระสุวรรณมุนี (หลวงปู่ฉุย) วัดคงคารามวรวิหาร ขณะนั้นยังเป็นพระผู้น้อยอยู่ ได้ริเริ่มดำเนินการสอนศิษย์วัดและบุตรหลานชาวบ้านให้ได้อ่านเรียนภาษาไทย จนอ่านออกเขียนได้ดี พ.ศ. 2444 โรงเรียนของวัดคงคารามวรวิหารได้มีชื่อเสียงและความนิยมจนสามารถตั้งเป็นโรงเรียนประถมชื่อ บำรุงไทย
พ.ศ. 2452
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรการก่อสร้างพระราชวังบ้านปืน หลวงพ่อฤทธิ์ได้ตั้งโต๊ะหมู่บูชานำพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถารับการเสด็จ เมื่อขบวนเสด็จมาจากสถานีรถไฟเพชรบุรีซึ่งเป็นสถานีใต้สุดในสมัยนั้นผ่านมาถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นโรงเรียนมีเด็กนักเรียนเล็กๆ อยู่ด้วย จึงรับสั่งให้หยุดรถพระที่นั่ง และทรงไต่ถามจนทราบว่า หลวงพ่อฤทธิ์สร้างโรงเรียนโดยเงินส่วนตัวสมทบกับเงินที่ชาวบ้านบริจาค และมีพระภิกษุสงฆ์เป็นครูสอน เมื่อเสด็จนิวัติกลับถึงพระนคร มีพระราชกระแสรับสั่งให้เสนาบดีกระทรวงธรรมการ จัดส่งครูชาย 3 คน มาจัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวง คราวใดที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานมายังจังหวัดเพชรบุรี พระองค์จะเสด็จแวะมานมัสการหลวงพ่อฤทธิ์เสมอ วันหนึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้เสด็จมานมัสการหลวงพ่อฤทธิ์ เมื่อได้สนทนาธรรมกับหลวงพ่อฤทธิ์แล้ว ก็เป็นที่พอพระทัยของเสด็จในกรมยิ่งนัก ถึงกับถวายตัวขอเป็นศิษย์ หลวงพ่อฤทธิ์ได้ถวายหัวโขนให้กรมหลวงชุมพรฯ 1 หัว เป็นหัวพิราพ และต่อมาโรงเรียนวัดพลับพลาชัยได้โอนกิจการและนักเรียนจากวัดพลับพลาชัย ย้ายไปรวมกับโรงเรียนบำรุงไทย (สืบเนื่องจากบริเวณวัดพลับพลาชัยคับแคบ ไม่เหมาะแก่การจัดการเรียน การสอน เพราะนอกจากตั้งเป็นโรงเรียนแล้ว วัดพลับพลายชัยในสมัยนั้น ยังเป็นที่ตั่งที่ว่าการอำเภอคลองกระแชง หรืออำเภอเมืองเพชรบุรี อีกด้วย ซึ่งย่ากต่อการขยาย)
พ.ศ. 2454
กระทรวงธรรมการได้ยกฐานะโรงเรียนบำรุงไทยเป็นโรงเรียนของรัฐบาล เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัดเพชรบุรี (วัดคงคาราม)
พ.ศ. 2473
กระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรี (คงคาราม)
พ.ศ. 2494
กระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโรงเรียนเพชรบุรี (คงคาราม)
พ.ศ. 2497-2498
สมัยนายโกวิทย์ ต่อวงษ์ เป็นอาจารย์ใหญ่ ได้ขออนุญาตย้ายโรงเรียนมาตั้ง ณ ที่ตั้งปัจจุบันซึ่งเคยเป็นวัดเก่า 4 วัด คือ วัดช้างใหญ่ วัดป่าแก้ว วัดโคกมะกรูด และวัดอินทคีรี และ พ.ศ. 2499 เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้นที่ได้มาเป็นประธานพิธีเปิดอาคารเรียน โรงเรียนได้เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้น ม. 1 ถึง ม. 6 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นชาย และเปิดรับระดับเตรียมอุดมศึกษาเป็นสหศึกษา
พ.ศ. 2543
เปิดเป็นโรงเรียนสหศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย รับนักเรียนหญิงในชั้น ม.1 เป็นรุ่นแรก
พ.ศ. 2554
โรงเรียนมีอายุครบ 100 ปี แห่งการก่อตั้งของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) (นับจากปี พ.ศ. 2454 ที่ยกฐานะเป็นโรงเรียนของรัฐบาล) หรือ 115 ปี นับแต่แรกตั้งโรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอน ณ วัดคงคาราม และ 124 ปี นับตั้งแต่พระอาจารย์ริด (หลวงพ่อฤทธิ์) เปิดกิจการโรงเรียน ณ วัดพลับพลาชัย